สถานการณ์น้ำท่วมที่ประเทศไทย ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2556
ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ขอสรุปสถานการณ์น้ำท่วมที่ประเทศไทยจนถึง วันที่ 9 ตุลาคม 2556 เพื่อให้พี่น้องชาวไทย-เกาหลีทราบ ดังนี้
1. นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีถนนที่อยู่ในการกำกับดูแลของทางหลวงชนบท ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยถึง 21 จังหวัด และถูกน้ำท่วม 238 สายทาง แต่ในจำนวนนี้ มีถนนเสียหายแต่ยังใช้สัญจรได้ 206 สายทาง และผ่านไม่ได้ 32 สายทาง ซึ่งหลังจากนี้ได้สั่งการให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด ส่วนการซ่อมบำรุงทางหลังทางหลังน้ำลด คาดใช้เวลาซ่อมแซมชั่วคราวเพื่อให้ทุกเส้นทางสัญจรได้ ประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนจะซ่อมบำรุงใหญ่อีกครั้ง โดยใช้งบประมาณซ่อมบำรุง 1,600 ล้านบาท ซึ่งนำมาจากงบประมาณกลางและงบประมาณ ประจำปี 57 ส่วนความคืบหน้าโครงการตามแผนป้องกันปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วนในพื้นที่ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการก่อสร้างถนนยกระดับคันทางทั้ง 19 โครงการ, กำแพงกันน้ำ, กำแพงคอนกรีต ทั้งฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางรวม 360 กม. นั้น ขณะนี้ กรมฯ ได้ดำเนินการด้านโครงสร้างฐานรากเรียบร้อยแล้วเหลือเพียงแต่การลาดพื้นผิว และอาจจะมีการเว้นพื้นที่ฟันหลอให้ชาวบ้านผ่านเข้าออกได้ประมาณ 5%ของการก่อสร้าง แต่หากมีน้ำมาทางกรมฯจะนำแผ่นกำแพงมากั้น
นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยปัจจุบันส่งผลให้ถนนทางหลวงเสียหายพื้นที่ 10 จังหวัด รวม 31 สายทาง ในจำนวนนี้มีถนนที่สัญจรผ่านไม่ได้ 13 สายทาง ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ กาญจนบุรี, ฉะเชิงเทรา, ลพบุรี, ปราจีนบุรี และ สระแก้ว สำหรับประชาชนที่จะเดินทางสามารถสอบถามยังสายด่วนกรมทางหลวง ตลอด 24 ชั่วโมง 1586 และตำรวจทางหลวง ตลอด 24 ชั่วโมง 1193 รวมถึง สายด่วนกรมทางหลวงชนบท ตลอด 24 ชั่วโมง 1146
2. นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรีว่า ขณะนี้ สถานการณ์น้ำที่ไหลเข้านิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เริ่มคลี่คลายอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากผ่านระดับน้ำท่วมสูงสุดไปแล้ว และเป็นน้ำที่ไหลท่วมเส้นทางภายในนิคมเฟส 7 เท่านั้น โดยลดลงจาก เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ระดับน้ำสูงสุดที่ 30 เซนติเมตร เหลือประมาณ 15 เซนติเมตร ดังนั้นหากช่วง 4-5 วันนี้ ไม่มีปริมาณน้ำฝนตกลงมาเพิ่ม ก็มั่นใจว่านิคมอุตสาหกรรมอมตะจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ ยืนยันว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ภายในเฟส 7 ยังไม่ได้รับผลกระทบ หรือน้ำเข้าท่วมโรงงาน ทุกโรงงานยังดำเนินการตามปกติ มี 2 โรงงานเท่านั้นที่หยุดดำเนินการ เป็นผลกระทบมาจากคนงานไม่สามารถเข้าไปโรงงานได้ แต่มั่นใจว่าภายใน 1-2 วันนี้ จะสามารถดำเนินการได้แล้ว โดยได้สั่งการผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ไปเร่งสรุปว่า จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากกรมชลประทานและกระทรวงพลังงาน ให้จัดส่งเครื่องสูบน้ำเข้ามาช่วยเป็นจำนวนเท่าใด
3. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. ถึงปัจจุบัน (9 ต.ค.) เกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 38 จังหวัด 283 อำเภอ 1,747 ตำบล 14,044 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 961,067 ครัวเรือน 3,147,892 คน บ้านเรือนเสียหาย 15,611 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 3,178,372 ไร่ ผู้เสียชีวิต 36 ราย
ขณะนี้ สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง กำแพงเพชร อุทัยธานี นครราชสีมา กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และชุมพร ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 27 จังหวัด 161 อำเภอ 1,012 ตำบล 7,775 หมู่บ้าน 486,122 ครัวเรือน 1,606,987 คน แยกเป็น น้ำป่าไหลหลาก 23 จังหวัด 145 อำเภอ ได้แก่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ยโสธรและขอนแก่น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และอุทัยธานี ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท และประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี และระยอง และอุทกภัยจากน้ำล้นตลิ่ง 4 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรีและสุพรรณบุรี
4.กระทรวงแรงงานร่มมือกับภาคเอกชนทั่วประเทศรับบริจาคเงินและสิ่งของแก่ผู้เดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วม

……………………………………………………………………………………………………………………..
ขอบคุณที่เผยแพร่ข่าวนี้
ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล