Skip to main content

หน้าหลัก

แนวโน้มและโอกาสของแรงงานไทย

ปี 2568  โอกาสทองของแรงงานไทยในเกาหลีใต้ ?

                            สาธารณรัฐเกาหลี ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคการก่อสร้าง ภาคการเกษตร ปศุสัตว์ และภาคการประมง อันเนื่องมาจากจำนวนประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดต่ำ จึงมีความต้องการแรงงานต่างชาติในกลุ่มแรงงานที่มีทักษะไม่สูงมาก เพื่อเข้ามาทดแทนแรงงานในประเทศ 

                       ในปี 2567 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้พิจารณาจัดสรรโควต้าการนำเข้าแรงงานต่างชาติ ให้กับประเทศที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน จำนวน 17 ประเทศ ได้แก่ 1.เวียดนาม 2.อินโดนีเซีย 3.ศรีลังกา 4.ไทย  5.กัมพูชา 6.ฟิลิปปินส์ 7.อุซเบกิสถาน 8.เนปาล 9.จีน 10.มองโกเลีย 11.บังคลาเทศ 12.เมียนมา 13.ปากีสถาน 14.ติมอร์ตะวันออก 15.คีร์กีซสถาน 16.ลาว และ 17.ทาจิกิสถาน ผ่านระบบการอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างชาติ (EPS) ให้มีการนำเข้าแรงงานต่างชาติ จำนวน 165,000 คน  แต่สถานการณ์ด้านแรงงานในปี 2568 ปรากฎว่ากระทรวงแรงงานและการจ้างงาน สาธารณรัฐเกาหลี มีการปรับลดโควต้าการจ้างงานแรงงานต่างชาติ รูปแบบ Employment Permit System: EPS เหลือจำนวน 130,000 คน อ้างอิงจากการรายงานข่าวของสำนักข่าว Chosunbiz เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ได้รายงานว่า ในปี 2568  กระทรวงแรงงานและการจ้างงาน สาธารณรัฐเกาหลี ได้ประกาศจำนวนโควต้าการอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างชาติ (วีซ่า E-9)  เหลือจำนวน 130,000 คน เป็นอัตราที่ลดลงคิดเป็นร้อยละ 21 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2567 ซึ่งให้โควต้าแรงงานต่างชาติสูงถึง 165,000 คน เป็นการปรับลดจำนวนโควต้า การจ้างแรงงานต่างชาติครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2564

คณะกรรมการนโยบายแรงงานต่างชาติ สาธารณรัฐเกาหลี ได้สรุปแผนโควต้าการจ้างแรงงานต่างชาติด้วยวีซ่า E-9 ของปี 2568 จำนวน 130,000 คน โดยในครึ่งปีแรกจะให้โควต้า จำนวน 98,000 คน ตามสัดส่วนประเภทงานดังนี้

ภาคอุตสาหกรรม จำนวน 72,000 คน

ภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ จำนวน 10,000 คน

ภาคประมง จำนวน 8,500 คน

ภาคงานบริการ จำนวน 3,000 คน

ภาคงานอู่ต่อเรือ จำนวน 2,500 คน

ภาคงานก่อสร้าง จำนวน 2,000 คน

และในครึ่งปีหลังจะมีการพิจารณาโควต้า จำนวน 32,000 คน ตามสัดส่วนความต้องการจ้างงานของนายจ้างตามแต่ละประเภทงาน

                       แม้ว่าในปี 2568 สาธารณรัฐเกาหลีจะมีการลดจำนวนโควต้าการจ้างแรงงานต่างชาติลง แต่ด้วยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้น ทำให้ตลาดแรงงานของเกาหลีใต้ยังเป็นที่น่าสนใจ ในปี 2568 สาธารณรัฐเกาหลีได้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็นอัตราชั่วโมงละ 10,080 วอน คิดเป็นอัตราเงินบาทไทย ประมาณ 236.88 บาทต่อชั่วโมง หากทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ประมาณการทำงานรายเดือน จำนวน 209 ชั่วโมง จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินจำนวน 2,106,720 วอน คิดเป็นอัตราเงินบาทไทย ประมาณ 49,507.92 บาท (ใช้อัตรา 0.0235 โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 20 มกราคม 2568 เป็นฐานการคำนวณ) แรงงานที่ต้องการมาทำงานควรมีทักษะภาษาเกาหลี เพราะนายจ้างต้องการแรงงานที่สามารถสื่อสารภาษาเกาหลีได้ดี เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุจากการทำงานอันเนื่องมาจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน และช่วยให้แรงงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การมีทักษะภาษาเกาหลีจึงเป็นเรื่องสำคัญและช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่แรงงาน

ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล

21 มกราคม 2568

 

 

 


7811
TOP