Skip to main content

หน้าหลัก

ปัญหาที่ส่งผลต่อการจ้างแรงงานไทย

1. ความไม่ชัดเจนของสัญญาจ้างงานในระบบ EPS โดยเฉพาะการระบุลักษณะงานและประเภทกิจการของนายจ้างในเกาหลี กว่าร้อยละ 50 ของข้อร้องทุกข์ของคนงานที่สำนักงานแรงงานไทยในสาธารณรัฐเกาหลีได้รับจากคนงาน ร้องเรียนว่า นายจ้างให้ทำงานไม่ตรงตามตำแหน่งงานที่ระบุในสัญญาจ้าง นายจ้างให้ทำงานเกินเวลาที่กำหนด เป็นต้น ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบควรดำเนินการให้มีการระบุประเภทกิจการ กำหนดลักษณะการทำงานที่ชัดเจน พร้อมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจเบื้องต้นกับคนงานก่อนการจัดส่งไปทำงาน


2. ปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างคนงานกับนายจ้าง คนงานไทยมีความรู้ ทักษะด้านภาษาเกาหลีน้อยมาก จนแทบสื่อสารข้อความกับนายจ้างไม่ได้ แม้จะมีการทดสอบ และฝึกอบรมด้านภาษาเกาหลีก่อนเดินทางมาทำงานแล้วก็ตาม การจะให้คนงานเรียนรู้ภาษาเกาหลีเพิ่มเติมในช่วงวันหยุดหรือเลิกงาน ทำได้ยาก เนื่องจากคนงาน เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาตลอดสัปดาห์ จึงต้องการใช้วันหยุดเพื่อพักผ่อน


3. นายจ้างที่ประสงค์จะจ้างแรงงานต่างชาติในระบบ EPS ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก   มีทุนประกอบการไม่มาก กิจการอาจยังไม่มั่นคง ทำให้เกิดปัญหาด้านการจ่ายค่าจ้าง การจัดสวัสดิการ หรือหยุดกิจการ ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงควรเจรจากับ HRD ให้มีการตรวจสอบ คัดเลือกนายจ้างก่อนพิจารณาจัดสรรโควต้าให้


4. งานที่ทำมีความยากลำบากเกินกว่าที่คนงานจะคาดถึง เช่น แบกของหนัก ทำงานกลางแจ้งที่มีอากาศหนาวจัด เป็นต้น ทำให้คนงานเหนื่อยล้า อยากเปลี่ยนงาน และท้อแท้ หากเปลี่ยนงานให้ไม่ได้ คนงานก็จะหนีงานในที่สุด


5. คนงานเห็นว่า การจัดส่งโดยระบบ EPS เป็นบริการของรัฐ เสียค่าใช้จ่ายน้อย จึงขาดความอดทน ความมุ่งมั่นในการทำงาน เมื่อประสบปัญหาเกี่ยวกับสภาพการจ้าง สภาพการทำงานก็ถอดใจ ทิ้งงาน ขอเปลี่ยนงาน หรือขอเดินทางกลับ ดังนั้น ในการอบรมคนงานก่อนจัดส่งควรย้ำเตือนเกี่ยวกับความยากลำบากในการทำงาน และเน้นว่าการเปลี่ยนงานเป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากต้องได้รับความยินยอมจากนายจ้างเดิม


6. ความเครียดจากสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน ตลอดจนสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจของคนงาน ฝ่ายแรงงาน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เห็นควรจัดหน่วยเคลื่อนที่ไปเยี่ยมคนงานหรือจัดกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายให้แก่คนงานตามความเหมาะสม


4912
TOP