แรงงานไทยในเกาหลี ‘อบอุ่น’ รมว.แรงงานไพฑูรย์ แก้วทอง เปิดงานสงกรานต์ แรงงานรวมตัวกันสืบสานประเพณีดีงามคนเกาหลีทั้งรัฐ เอกชน ต่างให้การสนับสนุนดียื่ง แรงงานไทยให้ข้อคิดฝากผู้ที่จะไปทำงานในเกาหลี
12 เม.ย. 52 / สวนสาธารณะฮวารัง เมืองอันซาน นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานวันสงกรานต์ให้กับแรงงานไทยที่มาทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี โดยเดินทางมาพร้อม นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง โดย รมว.ไพฑูรย์กล่าวในตอนหนึ่งกับพี่น้องแรงงานในงานดังกล่าวว่า “การเดินทางมาในครั้งนี้เพื่อเป็น กำลังใจให้กับแรงงานไทย และในฐานะที่ได้ทำงานคลุกคลีกับแรงงานมาโดยตลอดจึงคุ้นเคย จึงมีความเข้าใจกับพี่น้องแรงงานไทยเป็นอย่างดี ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพร่างกาย สุขภาพทางใจ มีความอดทน ขยันขันแข็ง เพื่อเป็นกำลังสำคัญสำหรับครอบครัวและประเทศชาติ “
ในการจัดงานครั้งนี้ รัฐมนตรีแรงงานของเกาหลี นายกเทศมนตรีของเขตพื้นที่ที่จัดงานก็มาร่วมเปิดงานด้วย นอกจากนี้ยังได้มีการมอบโล่รางวัลให้กับนายจ้างชาวเกาหลีที่ให้การดูแลแรง งานไทยเป็นอย่างดีใน 3 ประเภทกิจการ คือภาคเกษตร ภาคก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีแรงงานของเกาหลีก็ได้มอบรางวัลให้กับแรงงานไทยที่มีความสามารถ โดดเด่นในการใช้ภาษาเกาหลีด้วยเช่นกัน บรรยากาศในงานเป้นไปด้วยความสดชื่นอบอวลด้วยมิตรไมตรี หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอ็นจีโอ ภาคเอกชนของเกาหลีและกลุ่มคนไทยต่างมาออกบูธกิจกรรมและอาหารกันอย่างคับคั่ง
นายบุญฤทธิ์ กองแก้ว ชาวจังหวัดขอนแก่น ที่มีประสบการณ์การทำงานในเกาหลี 9 ปี เป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ทำงานร่วมกับแรงงานชาวเกาหลีกว่า 100 คน ในโรงงานผลิตพลาสติก ชิน ชิน เพื่อทำสวิทช์ไฟฟ้าป้อนเครื่องใช้ไฟฟ้า แอล จี กล่าวว่า การมาทำงานต้องมีความอดทน และต้องรู้จักปรับตัวในทุกด้าน นอกจากต้องเรียนรู้ภาษาเกาหลีแล้ว ยังต้องเรียนรู้เข้าใจวัฒนธรรม และอุปนิสัยของนายจ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่าเมื่อมาใหม่ๆก็มีความกดดันมาก แต่เมื่ออยู่ๆไป เรียนรู้กันไปก็พบว่า โดยแท้จริงนายจ้างเกาหลีก็มีจิตใจดี และปฏิบัติต่อตนเป็นอย่างดีประหนึ่งคนในครอบครัว ทั้งนี้ขอให้แรงงานไทยมีหลักยึดในการใช้ชีวิตการทำงานที่นี่ คือ ต้องอดทนต่อการทำงาน และสภาพอากาศที่หนาวเย็น และใช้ความอ่อนน้อม พูดจากับนายจ้างด้วยท่าทีและคำพูดที่สุภาพ ทั้งนี้แรงงงานไทยส่วนใหญ่มีความอดทน ขยัน แต่ก็มีข้อเสีย คือมักชอบดื่มสุรา และไม่ชอบถูกเอาเปรียบโดยเฉพาะในเรื่องการจ่ายค่าจ้างที่บางครั้งไม่ตรงเวลา