ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจ้างแรงงานต่างชาติ บังคับให้แรงงานต่างชาติ(วีซ่า E 9) ที่เดินทางเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต้องทำประกันภาคบังคับ ดังนี้
1. การประกันภัยทั่วไป
ต้องทำภายใน 15 วัน นับจากวันที่เดินทางเข้าสาธารณรัฐเกาหลี โดยผู้เอาประกันจะได้รับการคุ้มครอง (ระยะเวลา 3 ปี) ทั้งนี้ การประกันภัยทั่วไปนี้จะไม่คุ้มครองเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล โดยจะชดเชยเฉพาะกรณีได้รับอุบัติเหตุ (เสียชีวิต / ไร้ความสามารถถาวร) จะได้รับเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 30 ล้านวอน และกรณีเจ็บป่วย (เสียชีวิต /ไร้ความสามารถถาวรขั้นรุนแรง) จะได้รับเงินชดเชยไม่เกิน 15 ล้านวอน โดยบริษัทประกันภัย จะประเมินความสูญเสียและจ่ายเงินชดเชย
อัตราเบี้ยประกันของการประกันภัยทั่วไปขึ้นอยู่กับเพศและอายุของแรงงานต่างชาติ โดยแรงงานต่างชาติ สามารถสมัครประกันภัยทั่วไป ณ ศูนย์ฝึกอบรมแรงงานต่างชาติ ที่แรงงานผู้นั้นเข้ารับการอบรมก่อนส่งต่อให้นายจ้าง ทั้งนี้ เบี้ยประกันภัยจะถูกตัดผ่านบัญชีธนาคารที่แรงงานต่างชาติแจ้งไว้ แรงงานต่างชาติที่ฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัยทั่วไป มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านวอน
เบี้ยประกันภัยทั่วไป สามารถเรียกคืนบางส่วนได้กรณีแรงงานต่างชาติเดินทางออกนอกเกาหลีใต้ โดยไม่มีการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยใดๆ (ยังไม่มีการใช้สิทธิ์ชดเชย) ก่อนที่การประกันภัยจะหมดอายุ (3 ปี) เนื่องจากสิ้นสุดการทำงาน หรือยกเลิกสัญญาจ้าง
2. การประกันสุขภาพ
กฎหมายประกันสุขภาพของสาธารณรัฐเกาหลี กำหนดให้นายจ้างต้องสมัครประกันสุขภาพให้แรงงานต่างชาติ (วีซ่า E 9) ภายใน 14 วัน นับจากวันทำสัญญาจ้าง โดยนายจ้างและลูกจ้างจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพฝ่ายละ 50 % ผู้เอาประกันจะได้รับบัตรประกันสุขภาพภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันสุขภาพ เพื่อใช้แสดงตนเมื่อขอรับบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลได้ทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน โดยแรงงานต่างชาติจะได้รับสิทธิ์การรักษาพยาบาลเทียบเท่าคนในชาติ ทั้งนี้ ผู้เอาประกันจะได้รับการคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล กรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่ไม่ใช่สาเหตุมาจากการทำงาน
ระบบประกันสุขภาพของสาธารณรัฐเกาหลีเป็นระบบร่วมจ่าย แม้ผู้ป่วยจะมีประกันสุขภาพแล้วก็ตาม ผู้ป่วยจะต้องมีส่วนในการรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลทุกครั้งที่พบแพทย์ โดยมีอัตราการร่วมจ่ายระหว่าง 20 – 60 % ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสุขภาพกำหนด ขึ้นอยู่กับประเภทการรักษาพยาบาล (ผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยใน) และสถานพยาบาล เช่น คลินิก โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค ในกรณีแรงงานต่างชาติอยู่ทำงานอย่างผิดกฎหมาย จะไม่สามารถสมัครประกันสุขภาพของรัฐ อย่างไรก็ตาม มีศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างชาติบางแห่ง ให้บริการรักษาพยาบาลราคาถูกหรือไม่เสียค่าใช้จ่าย แก่แรงงานผิดกฎหมาย
3. การประกันเจ็บป่วยและอุบัติเหตุอันเนื่องจากการทำงาน
พ.ร.บ. ประกันค่าทดแทนอุบัติเหตุในอุตสาหกรรม (Industrial Accident Compensation Insurance Act) กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องทำประกันอุบัติเหตุในการทำงานให้ลูกจ้างทุกคน ภายใน 15 วัน นับจากวันทำสัญญาจ้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำหรือชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือบาดเจ็บจากการทำงาน โดยไม่คำนึงถึงสาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บซึ่งอาจเกิดจากความไม่รู้หรือความผิดของลูกจ้าง และไม่คำนึงถึงสถานะแม้ว่าจะทำงานกับสถานประกอบการที่ผิดกฎหมายหรือเป็นแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย โดยลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงานจะได้รับการรักษาพยาบาล และค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ ค่าทดแทนการขาดรายได้ ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ และหากประสบอันตรายถึงแก่ความตาย นอกจากได้รับค่าทำศพแล้วทายาทยังได้รับเงินทดแทนอีกด้วย
ลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงานและอยู่ระหว่างการพักรักษาตัว สามารถปฏิเสธการทำงานโดยนายจ้างไม่สามารถบังคับให้ทำงานหรือบังคับให้ออกนอกประเทศได้ ในกรณีที่ลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุยังอยู่ระหว่างการรักษาแต่สามารถทำงานได้ ลูกจ้างผู้นั้นยังมีสิทธิรับค่ารักษาพยาบาลจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา โดยได้รับค่าจ้างแรงงานจากนายจ้างและหมดสิทธิ์รับค่าทดแทนการขาดรายได้
สำหรับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายที่เกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน ให้ใช้ใบรับรองแพทย์และเอกสารรับรองจากสำนักงานประกันอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน นำไปดำเนินการเพื่อรับเอกสารรับรองการอยู่อาศัยในเกาหลีใต้ (วีซ่า G-1) ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยจะได้รับอนุญาตให้พำนักในเกาหลีใต้จนสิ้นสุดการรักษา
สิทธิประโยชน์จากการประกันเจ็บป่วยและอุบัติเหตุอันเนื่องจากการทำงาน มีดังนี้
(1) ค่ารักษาพยาบาล (Medical Care Benefits) เป็นเงินที่จ่ายให้แก่แรงงานที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลตั้งแต่ 4 วันขึ้นไป ได้แก่ ค่าตรวจวินิจฉัย ค่ายา ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าผ่าตัด ค่าอวัยวะเทียม ค่าส่งต่อ
(2) ค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพชั่วคราว (Temporary Disability Benefits) เป็นเงินที่จ่ายให้แก่แรงงานในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายวันเฉลี่ย เพื่อทดแทนการขาดรายได้ระหว่างรับการรักษาพยาบาล
(3) ค่าทดแทนรายปี (Injury-disease Compensation Annuity) เป็นเงินที่จ่ายให้แรงงานที่ได้รับการรักษาพยาบาลมานานกว่า 2 ปี แต่ยังไม่สิ้นสุดการรักษา จำนวนค่าทดแทนขึ้นอยู่กับระดับความพิการ ดังนี้
@ ความพิการระดับที่ 1 ได้รับค่าทดแทน 329 วันของค่าจ้างเฉลี่ย
@ ความพิการระดับที่ 2 ได้รับค่าทดแทน 291 วันของค่าจ้างเฉลี่ย
@ ความพิการระดับที่ 3 ได้รับค่าทดแทน 257 วัน ของค่าจ้างเฉลี่ย
(4) ค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพถาวร (Permanent Disability) เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับแรงงานที่ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยจนพิการทางร่างกายหรือจิตใจ จำนวนเงินทดแทนขึ้นอยู่กับระดับความพิการ
(5) ค่าดูแล (Nursing Benefits) สำหรับแรงงานที่สิ้นสุดการรักษาพยาบาลแล้วแต่ยังจำเป็นต้องมีผู้ดูแลเป็นประจำหรือครั้งคราว
(6) ค่าทดแทนแก่ทายาท (Survivors Benefits) เป็นสิทธิประโยชน์ที่จ่ายแก่ทายาท หรือ ผู้อยู่ในอุปการะของแรงงานที่เสียชีวิตจากการทำงาน โดยเหมาจ่ายให้จำนวน 1,300 วันของค่าจ้างเฉลี่ยรายวัน
(7) ค่าจัดการงานศพ (Funeral Expenses) เป็นค่าใช้จ่ายจริงที่จ่ายให้แก่ผู้จัดการศพของแรงงานที่เสียชีวิตจากการทำงาน โดยคำนวณจ่ายเท่ากับ 120 วันของค่าจ้างเฉลี่ยรายวัน แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 9,093,040 วอน และไม่เกิน 12,659,320 วอน (อัตราปี 2555)
4. การประกันการจ้างงาน
การประกันการจ้างงาน เป็นการประกันภาคสมัครใจเพื่อเป็นค่าครองชีพกรณีแรงงานต่างชาติถูกเลิกจ้าง โดยนายจ้างและลูกจ้างจ่ายค่าเบี้ยประกันการจ้างงานฝ่ายละ 50 % สามารถสมัครได้ที่สำนักงานสังคมสงเคราะห์และค่าทดแทนสำหรับแรงงาน ทั้งนี้ แรงงานที่ได้รับการจ้างงานตั้งแต่ 180 วันขึ้นไปและต่อมาถูกเลิกจ้าง สามารถขอรับเงินชดเชยได้ที่ศูนย์ความมั่นคงในการจ้างงาน ยกเว้นในกรณีที่เปลี่ยนงานด้วยความสมัครใจ หรือถูกไล่ออกเนื่องจากความผิดร้ายแรง
5. การประกันชดเชยค่าจ้างค้างจ่าย
การประกันชดเชยค่าจ้างค้างจ่ายเป็นการประกันภาคบังคับแก่นายจ้างในสถานประกอบการ ที่มีลูกจ้างประจำน้อยกว่า 300 คน ยกเว้นกิจการก่อสร้างหรือซ่อมแซมที่มีมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านวอน มีขนาดไม่เกิน 330 ตรม. การเกษตรที่ไม่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีลูกจ้างไม่เกิน 5 คน โดยนายจ้างต้องทำประกันชดเชยค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันทำสัญญาจ้าง เพื่อเป็นหลักประกันแก่แรงงานกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างหรือค้างชำระค่าจ้าง นายจ้างรายใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5 ล้านวอน แรงงานต่างชาติที่มีสิทธิ์จะได้รับเงินชดเชยค่าจ้างค้างจ่ายสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านวอน
6. เงินรางวัลสิ้นสุดสัญญาจ้าง (แทจิกกึม)
เงินรางวัลสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเงินแทจิกกึม เป็นเงินที่นายจ้างในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 5 คนขึ้นไป จ่ายให้กรณีแรงงานต่างชาติทำงานกับนายจ้างไม่น้อยกว่า 1 ปีเป็นเงินมูลค่าเท่ากับค่าจ้าง 30 วัน โดยนายจ้างจะต้องจ่ายภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของการทำงาน หากนายจ้างฝ่าฝืนจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 10 ล้านวอน
นับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2553 สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 1 – 4 คน จะต้องจ่ายเงินรางวัลสิ้นสุดสัญญาจ้าง กรณีแรงงานต่างชาติทำงานกับนายจ้างไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นเงินมูลค่าเท่ากับค่าจ้าง 15 วัน และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป จะต้องจ่ายเงินรางวัลสิ้นสุดสัญญาจ้าง กรณีแรงงานต่างชาติทำงานกับนายจ้างไม่น้อยกว่า 1 ปีเป็นเงินมูลค่าเท่ากับค่าจ้าง 30 วัน (รวมแรงงานที่ทำงานในภาคเกษตร)
7. เงินทดแทนเนื่องจากบริษัทล้มละลายหรือเงินเชดังกึม
แรงงานต่างชาติที่สิ้นสุดการทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง เนื่องจากนายจ้างยกเลิกกิจการจากกรณีข้างล่างนี้ข้อหนึ่งข้อใด ผู้ใช้แรงงานสามารถขอรับเงินชดเชยเป็นค่าจ้างค้างจ่ายสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน เงินแทจิกกึม ไม่เกิน 3 ปี และค่าแรงในวันหยุดไม่เกิน 3 เดือน โดยสามารถเรียกร้องเงินเชดังกึมได้ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่นายจ้างล้มละลาย
กรณีนายจ้างถูกตัดสินจากศาลให้ล้มละลาย
แรงงานต่างชาติสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชยผ่านสำนักงานสังคมสงเคราะห์และค่าทดแทนสำหรับแรงงาน โดยเงินจะส่ง เข้าบัญชีของผู้ยื่นคำร้องโดยตรง
กรณีอื่นที่เทียบเท่ากับการล้มละลาย
กรณีอื่นที่เทียบเท่ากับการล้มละลายตามที่กฎหมายกำหนด แรงงานต่างชาติสามารถยื่นใบรับรองการล้มละลายต่อหัวหน้าสำนักงานแรงงานท้องถิ่น (ภายใน 1 ปีนับจากวันที่ออกจากบริษัท) และรับเอกสารรายงานการล้มละลาย จากนั้นยื่นคำร้องขอรับเงินเชดังกึมพร้อมยื่นเอกสารยืนยันการล้มละลายของบริษัทที่สำนักงานแรงงานท้องถิ่น หลังจากนั้น สำนักงานแรงงานท้องถิ่นจะตรวจสอบและส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานสังคมสงเคราะห์และค่าทดแทนแรงงาน ผู้ยื่นคำร้องจะได้รับเงินโดยเงินจะถูกโอนเข้าบัญชีของผู้ยื่นคำร้องโดยตรง
8. การประกันค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับ (Return Cost Insurance)
การประกันค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศ เป็นการประกันภาคบังคับแก่แรงงานต่างชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเตรียมค่าใช้จ่ายเมื่อแรงงานต่างชาติต้องการเดินทางกลับประเทศ โดยจะขอรับเงินประกันเดินทางกลับได้ในกรณี ดังนี้
(1) เดินทางกลับประเทศ เนื่องจากระยะเวลาอนุญาตทำงานสิ้นสุดลง หรือเป็นผู้ที่หลบหนีนายจ้างแล้วประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ
(2) เดินทางกลับประเทศด้วยเหตุจำเป็น (ไม่รวมถึงการเดินทางกลับประเทศชั่วคราว)
(3) ถูกเลิกจ้างงาน ด้วยสาเหตุที่เกิดจากตัวแรงงานเอง ทำให้ต้องส่งกลับประเทศโดย ไม่มีข้อยกเว้นกรณีใดๆ
แรงงานต่างชาติในระบบ EPS ทุกคน ต้องทำประกันค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศ ภายใน 80 วัน นับจากวันเดินทางเข้าประเทศ โดยแรงงานต่างชาติเป็นผู้รับผิดชอบการจ่ายเบี้ยประกันซึ่งกำหนดให้ชำระครั้งเดียวเต็มจำนวน อัตราเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับประเทศผู้ส่ง (Sending Country) สำหรับประเทศไทยกำหนดเบี้ยประกันจำนวน 400,000 วอน โดยแรงงานต่างชาติ สามารถสมัครประกันเดินทางกลับ ณ ศูนย์ฝึกอบรมแรงงานต่างชาติ ที่แรงงานผู้นั้นเข้ารับการอบรมก่อนส่งต่อให้นายจ้าง ทั้งนี้ เบี้ยประกันจะถูกตัดผ่านบัญชีธนาคารที่แรงงานต่างชาติแจ้งไว้ แรงงานต่างชาติที่ฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัยเดินทางกลับ มีโทษปรับ 800,000 – 1,000,000 วอน กรณีแรงงานต่างชาติเสียชีวิตขณะทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีทายาทโดยธรรมเป็นผู้มีสิทธิ์รับเงินประกันค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับแทน
การขอรับเงินประกันค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศ สามารถติดต่อที่ศูนย์บริการจัดหางานในเขตพื้นที่ที่อาศัยอยู่ เพื่อแจ้งความประสงค์ขอเดินทางกลับประเทศ หลังจากนั้นศูนย์ฯ จะออกแบบฟอร์มการกลับประเทศ โดยให้กรอกแบบฟอร์มเกี่ยวกับตัวเอง ได้แก่ ชื่อ/นามสกุล หมายเลขบัญชีธนาคาร หมายเลขหนังสือเดินทาง เป็นต้น พร้อมทั้งแนบสำเนาเอกสารทั้งหมดเพื่อประกอบการยื่นคำร้องขอรับเงินประกันเดินทางกลับ ณ ศูนย์พัฒนาแรงงานเพื่อการอุตสาหกรรมเกาหลี หรือบริษัทประกันซัมซองฮวาเจ หลังจากเรื่องผ่านการอนุมัติ เงินประกันเดินทางกลับจะถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารที่แจ้งไว้โดยอัตโนมัติ โดยปกติใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 3 วันทำการ
9. เงินบำเหน็จ (Pension)
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ผู้ใช้แรงงานในสาธารณรัฐเกาหลีที่ทำงานในสถานประกอบการซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องเข้าร่วมโครงการเงินบำนาญแห่งชาติ ด้วยการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนบำนาญเพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิต โดยนายจ้างและลูกจ้างจะต้องร่วมจ่ายเงินสมทบกองทุนฝ่ายละ 4.5 % ของเงินเดือนมาตรฐาน สมาชิกกองทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
* เงินบำนาญกรณีทุพพลภาพ เป็นเงินที่จ่ายให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยระหว่างเข้าร่วมโครงการและมีอาการทุพพลภาพหลังสิ้นสุดการรักษาพยาบาล จำนวนเงินบำนาญขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของความทุพพลภาพ สำหรับความทุพพลภาพระดับ 1-3 จะได้รับเงินบำนาญเป็นรายปี ส่วนความทุพพลภาพระดับ 4 จะได้รับเป็นเงินก้อน
* เงินบำนาญกรณีเสียชีวิต กรณีผู้เข้าร่วมโครงการเสียชีวิต หรือผู้รับเงินบำนาญชราภาพ บำนาญทุพพลภาพเสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงินช่วยยังชีพรายเดือน ทั้งนี้ ทายาทสามารถยื่นคำร้องขอรับสิทธิ์ประโยชน์ย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี
* เงินบำเหน็จ (เงินก้อน) กรณีเป็นแรงงานต่างชาติ จะสามารถขอคืนเงินสมทบ(ส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง) พร้อมดอกเบี้ย เมื่อเดินทางกลับประเทศ (ภายในเวลา 5 ปี นับจากวันที่เดินทางออกจากสาธารณรัฐเกาหลี) หรือเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
สำหรับแรงงานต่างชาติที่มีอายุระหว่าง 18 – 60 ปี และพำนักอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลี ต้องเข้าร่วมโครงการเงินบำนาญแห่งชาติเช่นเดียวกับชาวเกาหลี อย่างไรก็ตาม บุคคลสัญชาติอื่นที่มีโครงการเงินบำนาญแห่งชาติของตนเองซึ่งไม่ได้บังคับใช้กับชาวเกาหลี จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าร่วมโครงการนี้
แรงงานต่างชาติที่เข้าร่วมโครงการบำนาญแห่งชาติและจ่ายเงินสมทบกองทุนบำนาญ จะขอรับสิทธิประโยชน์เป็นเงินบำเหน็จคืนได้ในกรณี ดังต่อไปนี้
(1) กรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างและเดินทางกลับประเทศ โดยไม่กลับเข้ามาทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอีก ผู้มีสิทธิ์สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินบำเหน็จก่อนเดินทางกลับได้ที่สำนักงานบำนาญแห่งชาติ เกาหลีใต้ (National Pension Service : NPS ) ในเขตพื้นที่สถานประกอบการ หรือท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน (วัน-เวลาราชการ โดยต้องไปยื่นคำร้องก่อนเวลาขึ้นเครื่องบินอย่างน้อย 6 ชั่วโมง) หรือสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินบำเหน็จภายหลังเดินทางกลับประเทศไทย ได้ที่สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานและสำนักงานแรงงานจังหวัด ทั้งนี้ เงินบำเหน็จจะถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารที่ผู้มีสิทธิ์แจ้งไว้ (จะต้องเป็นชื่อบัญชีของผู้มีสิทธิ์รับเงินเท่านั้น) หลังจากที่เดินทางออกจากสาธารณรัฐเกาหลีแล้ว
(2) กรณีผู้มีสิทธิ์เสียชีวิต สิทธิ์จะตกทอดถึงทายาทโดยธรรม โดยทายาทจะได้รับเงินยังชีพรายเดือนตามอัตราที่ NPS กำหนด